พลากร สอนสร้างเว็บ
เคล็ดลับ ทำเว็บไซต์ ให้สำเร็จใน ทุก Projects
January 5, 2021
ตั้งเป้าหมายว่าจะทำเว็บไซต์ แต่แล้วก็ยังทำไม่เสร็จสักที วันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆ มาแบ่งปันครับว่า เราจะทำเว็บไซต์ ให้สำเร็จได้อย่างไรบ้างครับ
สวัสดีปีใหม่ครับ เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ปีที่ผ่านมา เราทำเว็บไซต์ไปเสร็จถึงไหนแล้ว ผมเชื่อว่า มีบางท่านก็ทำเสร็จแล้ว มีบางท่านอาจจะยังทำอยู่เรื่อยๆ ในวีดีโอนี้ ผมมีเคล็ดลับมาแชร์ครับว่า ทำอย่างไร เป้าหมายในการทำเว็บไซต์ของเรา จะสำเร็จได้โดยวิธีที่ไม่ยากครับ


1. แบ่งเป้าหมายการทำเว็บไซต์ออกเป็นส่วนๆ

เมื่อเป้าหมายมันใหญ่ และ มันดูยาก เราก็ต้องย่อยให้มันเล็กลง โดยการแบ่งออกเป็นส่วนๆ เหมือนคำกล่าวที่ว่า ถ้าจะกินช้างทั้งตัว ต้องกินทีละคำ (แต่อย่าไปกินนะครับเราควรอนุรักษ์ช้างไว้) เอาล่ะ แล้วเราจะแบ่งอย่างไร


ขึ้นอยู่กับรูปแบบเว็บ

กรณีเว็บไม่ซับซ้อน
ถ้าเว็บที่ไม่ซับซ้อน อย่างเว็บ บริษัท หรือ เว็บส่วนตัว ที่เราใส่ข้อมูลหรือเขียน Blog อย่างเดียว ให้เราแบ่งที่ตัวข้อมูลครับ ว่าข้อมูลแต่ละส่วน เราจะใส่เมื่อไรอย่างไร เช่น เรามีหน้าเว็บ 4 หน้า 5 บทความ เราอาจจะทำทีละหน้า ทีละบทความครับ สังเกตุนะครับว่า ผมพูดถึงแค่ การทำข้อมูล เราอาจจะเขียนข้อมูล ลงใน Word หรือ ที่ไหนก็ได้ แล้วค่อยมาลงเว็บ

เหตุผลเพราะว่า ถ้าข้อมูลยังไม่ได้ แล้วเรามัวแต่ไปตกแต่งเว็บ พอข้อมูลมาก็ต้องตกแต่งใหม่อยู่ดี ณ จุดนี้ จัดเตรียมข้อมูลก่อนครับ

กรณีเว็บซับซ้อนขึ้นมา
ถ้าเป็นกรณี เว็บที่ซับซ้อนขึ้นมา เช่นเว็บที่เป็น E-Commerce หรือ มีรูปแบบการใช้ที่ พิศดารหน่อย ให้เราแบ่งเป็นส่วนโดยฟังก์ชั่น หรือ การใช้งานของมันครับ เริ่มแรก แนะนำให้ทำเฉพาะ การแสดงข้อมูล หรือ ข้อมูลหน้าเว็บทั่วไปให้เสร็จก่อน แล้ว ค่อยๆ ขยับไปเช่น ถ้าทำเว็บขายของออนไลน์ ก็ตั้งค่าระบบ เสร็จแล้วไปเพิ่มสินค้า ทดสอบการซื้อขายเป็นต้น

เน้นย้ำอีกครั้งครับว่า การตกแต่งเว็บไซต์ เราควรทำเมื่อ เว็บเราเริ่มมีข้อมูลแล้ว เพราะว่า ถ้าเรามัวแต่วนเวียนในเรื่องของการปรับแต่ง มันจะไม่เสร็จสักทีครับ มันเป็นเช่นนี้เพราะว่า ข้อมูลยังไม่ครบ เราก็ยังคงต้องใส่ต้องแก้ข้อมูลต่อไป 

ถึงแม้ในยุคนี้ จะมีให้โหลด Demo มาใส่เว็บไซต์ก็ตาม แต่บางท่านอาจจะยังไม่รู้ครับว่า การโหลด Demo มา บางทีแก้ไขยากกว่าการทำเองอีกครับ เพราะ Demo บางเจ้ามีการตั้งค่าค่อนข้างล้ำลึกครับ ถ้าเราเพิ่งเคยสร้างเว็บไซต์ เราอาจจะไม่ได้ล้ำลึก ตามผู้ผลิตก็ได้ครับ แต่ถ้าเราคล่องแล้ว การโหลด Demo ก็เป็นวิธีที่ดีครับ แต่ถ้ายังไม่คล่อง แนะนำค่อยๆ ทำดีกว่าครับ


2. เริ่มทำแบบ Startup

บอกกันตามตรงครับว่าในปัจจุบัน เราสามารถใช้เครื่องมือฟรี ในการสร้างเว็บไซต์ ของเรา Version แรกออกมาได้เลย  สังเกตุนะครับว่า เว็บไซต์ของเราไม่ได้ทำแล้วจบ ชีวิตนี้ไม่ต้องแก้อีกแล้ว แต่เราค่อยๆ พัฒนามันไปได้ครับ เราถึงเรียกว่าการพัฒนาเว็บไซต์ แต่สิ่งที่เราต้องมีคือ Version แรกครับ ในภาษา Startup เราเรียกว่า MVP  คือ Minimum Viable Product นั่นเอง เป็นสินค้า ที่พอจะเอาไปใช้ทดสอบตลาดได้นั่นเอง

ข้อดีของการเริ่มต้นแบบ Startup คือ เราจะเจ็บน้อยครับ ถ้าสิ่งที่ออกมา มันแป๊ก หรือ ไม่ใช่สิ่งที่ตลาดต้องการ และ ที่สำคัญที่สุด การเริ่มต้นแบบ Startup ทำให้เรามีกำลังใจครับ เพราะว่า เราเริ่มเล็กๆ มันก็ไม่เหนื่อยจนเกินไป เราเริ่มจากการสร้างบ้านชั้นเดียว มันย่อมเหนื่อยน้อยกว่า ใช้ทุนน้อยกว่า การสร้างคอนโดอยู่แล้วครับ


3. เริ่มต้นที่คุณค่า มากกว่าการคิดถึงรายได้

ถ้าเราเริ่มต้นทำเว็บไซต์ เพราะคิดว่าจะหารายได้อย่างเดียว เราก็จะไป Focus ที่วิธีการหารายได้ครับ จริงๆแล้ว การ Focus ไปที่วิธีการหารายได้ไม่ใช่เรื่องผิดครับ แต่เมื่อเรา Focus ไปที่วิธีการหารายได้แล้ว เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า วิธีที่เราคิด จะใช้ได้ และ จะมีรายได้จริง

รายได้ในเว็บไซต์ เกิดจาก ผู้ชม หรือ Audience ของเราครับ การที่เว็บของเราจะมีผู้ชมได้ เราต้องให้คุณค่า อะไรบางอย่าง ถึงจะมีคนเข้ามาชมครับ ถ้าปราศจากคุณค่า เวลามีคนเข้ามาดูแล้ว ไม่เห็นสิ่งที่เขาต้องการ สิ่งเดียวที่ที่เขาทำคือ ปิดเว็บไซต์เราครับ แล้วเราก็จะไม่ได้อะไรจากจุดนี้ครับ

พอพูดถึงคุณค่า หลายคนอาจจะบอกว่า จะเป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวหรือเปล่า จริงๆแล้วไม่ใช่ครับ คุณค่า มีหลายรูปแบบครับ เช่น ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ อันนี้เรารู้อยู่แล้ว ว่าเป็นคุณค่า นอกจากนั้นยังมี เรื่องบันเทิง เรื่องศิลปะ เรื่องดนตรี อันนี้ก็เป็นคุณค่าเหมือนกันครับ เพราะให้ประโยชน์กับผู้คนในแง่ที่ ให้ความเพลิดเพลิน และ สบายใจ 

แต่มีสิ่งที่เราอาจจะคิดไม่ถึงว่า มันมีคุณค่าในตัวมันเอง ก็คือ สินค้า หรือ บริการของเราก็สามารถทำให้รู้สึก ถึงคุณค่าได้ครับ ถ้าลูกค้าเห็นคุณค่า และ เชื่อในคุณค่าสินค้าของเรา เราก็มีโอกาสขายได้เช่นกันครับ เราถึงมีเว็บไซต์ อย่าง E-Commerce ที่ขายของได้ในทุกวันนี้ครับ


4. ไม่มีเวลา ก็ต้องสร้างเวลาขึ้นมา

หลายคนเข้าใจผิดครับว่า ไม่มีเวลาก็ไปจ้างทำก็ได้ การไปจ้างเขาทำ เราก็ต้องมีเวลามาดูข้อมูล เขียนข้อมูลให้คนที่เราไปจ้างอยู่ดี โดยเฉพาะการตรวจรับงาน ยิ่งต้องใช้เวลาดูให้ดี

เพิ่มเวลาด้วยความรู้
เคล็ดลับที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การมีความรู้ จะทำให้เราเสียเวลาน้อยลง เพราะเราไม่ต้องไปงมเข็มในมหาสมุทรอีกแล้ว เราสามารถเห็นได้เลยว่า สิ่งนี้ใช่หรือไม่ใช่สำหรับเรา การเสียเวลาน้อยลง จะทำให้เรามีเวลามากขึ้นโดยอัตโนมัติเอง

ไม่ว่าเราจะสร้างเว็บไซต์เอง หรือ ไปจ้างทำ ความรู้จะช่วยเราได้มากกว่า การที่เราไม่มีความรู้ แล้วไปจ้างทำเลย เช่น เวลาเราสร้างบ้าน ถ้าเราไม่มีความรู้เลย เวลาคุยกับผู้รับเหมาก็อาจจะ งง แล้วก็ไม่รู้ว่าเค้าพูดถึงอะไร สุดท้ายบ้านที่เราสร้างออกมา อาจจะไม่ใช่ในแบบที่เราต้องการก็ได้ ดังนั้น การมีความรู้ ในเรื่องที่เราจะทำ ในกรณีที่เราสร้างเว็บไซต์ ถ้ามีความรู้พื้นฐานบ้าง ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

เพิ่มเวลาด้วยวินัย
ทุกคนมีเวลาเท่ากันครับ แต่ทำไมบางคนได้ทำในสิ่งที่ต้องการ บางคนไม่ได้ทำ นั่นก็เพราะว่า เราไม่มีการจัดสรรเวลาไว้ก่อนนั่นเอง เคล็ดลับนี้ ผมเคยพูดไว้แล้วใน Podcasts เช่นกันก็คือ เราแบ่งเวลาน้อยๆ มาแต่ลงมือทำบ่อยๆ เช่น ทำวันละ 10 - 15 นาที ก็ยังดีกว่าไม่ทำ เพราะความสำเร็จ ไม่ใช่การทำรวดเดียวจบ แต่มันคือการสะสม อย่างต่อเนื่อง เหมือนกับการออมเงินนั่นเอง


สรุป

เราจะทำเว็บไซต์ ของเราให้เสร็จได้อย่างไรบ้าง เริ่มต้นจากการ แบ่งเป้าหมายการทำเว็บไซต์ออกเป็นส่วนๆ ก่อน โดยแบ่งตามประเภทของเว็บไซต์ ว่าเป็นแบบไหน จากนั้นให้ใช้วิธีการเริ่มต้นแบบ Startup ครับ เริ่มต้นเล็กๆ ให้มีเว็บไซต์ สัก 1 Version ก่อน แล้วค่อย พัฒนามันไปเรื่อยๆ ให้เริ่มต้นจากคุณค่า ที่เราต้องการมอบให้กับคนดู หรือ Audience ของเราก่อน แล้ววิธีการหารายได้ ถึงจะเริ่มทำงานได้ และ สุดท้ายคือ เหตุผลที่ยอดฮิตที่สุด คือ เราไม่มีเวลา ณ จุดนี้ ผมแนะนำให้สร้างเวลาด้วย 2 วิธีคือ 1 ลดอาการเสียเวลาลงด้วยความรู้ 2 เพิ่มเวลาด้วยการ แบ่งเวลาทำเป็นช่วงเวลาเล็กๆน้อยๆ อย่างต่อเนื่อง ถ้าทำตามเคล็ดลับเหล่านี้ได้ ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลแล้วครับ